วิธีควบคุมและกำจัดปลวก

วิธีติดตั้งสถานีและวางเหยื่อล่อปลวก

การควบคุมและกำจัดปลวกด้วยวิธีการติดตั้งสถานีและวางเหยื่อล่อปลวก ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดปลวกได้ถึงต้นตอของปัญหา โดยเหยื่อล่อนี้เกิดจากองค์ประกอบของเซลลูโลส(สารที่อยู่ในเนื้อไม้ที่ปลวกใช้เป็นอาหาร) ผสมกับ สารคลอร์ฟลูอาซูรอน มีฤทธิ์ทำให้ปลวกลอกคราบไม่สมบูรณ์ มีความเฉพาะเจาะจงกับปลวกที่สร้างความเสียหายให้บ้าน ได้แก่ คอปโตเทอเมส (Coptotermes) เมื่อปลวกงานได้รับ สารคลอร์ฟลูอาซูรอน (Chlorfluazuron) ประมาณ 0.1% w/w ที่ผสมในเหยื่อจะไม่ได้ทำให้ปลวกงานตายทันที แต่ปลวกยังสามารถนำเหยื่อกลับรังเพื่อนำไปให้ปลวกตัวอื่นๆได้กิน เป็นอาหาร หลังจากที่ปลวกได้รับเหยื่อนี้เข้าไปสักระยะ ผนังลำตัวจะเริ่มขยาย จากลักษณะตัวปลวกขาวใสจะเริ่มขาวขุ่น ซึ่งปกติแล้วปลวกจะต้องลอกคราบทุก 15 วัน แต่ปลวกที่ได้รับสารคลอร์ฟลูอาซูรอน จะไม่สามารถลอกคราบได้ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ไรและเชื้อราที่อยู่ในรังปลวกจะเข้าทำลาย ทำให้ปลวกงานตาย เมื่อไม่มีปลวกงานก็ย่อมส่งผลไปยังปลวกวรรณะอื่นๆ รวมถึงส่งผลให้ตัวอ่อนและนางพญาขาดอาหารและตายลงในที่สุด

ทั้งนี้ประสิทธิภาพการกำจัดและควบคุมปลวก ต้องอาศัยการเข้าตรวจสอบสถานีเหยื่อปลวกอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่กระบวนการกำจัดและการควบคุมต่อหลังจากอาณาจักรปลวกล่มสลาย เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้ใหม่และเคลื่อนย้ายได้ หากเราหยุดดูแล ก็สามารถเกิดอาณาจักรปลวกรังใหม่ขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี การควบคุมและกำจัดปลวกด้วยวิธีการติดตั้งสถานีเหยื่อปลวกนั้นถือว่าปลอดภัยที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมดกังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง จึงเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ